หลายคนเก็บเงินไม่อยู่ แต่ไม่รู้สาเหตุจริง ๆ ว่าเพราะอะไรเราถึงเก็บเงินไม่ได้ บ้างก็บอกว่ารายได้น้อย บ้างก็บอกว่าค่าใช้จ่ายเยอะ แต่อยากให้ลองดูพฤติกรรมของเรากันสักนิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเก็บเงินไม่อยู่หรือเปล่า ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านี้มีอะไรบ้าง และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร K-Expert มีคำตอบ
วลีฮิตของใครหลายคนในตอนนี้ เวลาที่เราอยากได้อะไรขึ้นมาสักอย่าง ก็มักจะมีเหตุผลเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ ที่ว่า “ของมันต้องมี” ต้องมีจริงไหม หรือเป็นความต้องการที่ไม่จำเป็น ถ้าว่ากันตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs Theory) อธิบายไว้ว่า มนุษย์เรามีความต้องการ (Needs) อยู่ 5 ระดับ เช่น ความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างปัจจัย 4 ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงหรือสังคมรอบข้าง เป็นต้น นั่นหมายความว่า หากเราจะตัดสินใจซื้อของอะไรสักอย่าง เราก็มักจะซื้อเพื่อสนองความต้องการพื้นฐานของเรานั่นเอง ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไร แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเราใช้เหตุผลเรื่องความต้องการในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ซื้อเสื้อผ้าราคาแพงเกินฐานะ โดยบอกกับตัวเองว่าฉันซื้อเพราะเสื้อผ้าคือปัจจัย 4 หรือซื้อรถหรูเกินกว่ารายได้เพียงเพราะต้องการให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง เป็นต้น
วิธีแก้: ก่อนตัดสินใจซื้ออะไร ควรคิดพิจารณาให้รอบคอบก่อน ที่บอกว่าของมันต้องมีนั้น ที่จริงแล้วเป็น “need หรือ want” กันแน่ เชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนระหว่าง need กับ want โดย want นั้น จะหมายถึงความต้องการเพียงชั่วคราวหรือไม่มีเหตุผลมารองรับ แต่ need จะหมายถึงความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างยิ่งยวด ซึ่งหากไม่ได้แล้วจะมีความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ดังนั้น ถ้ามีเงินมากพอ มีเงินเก็บเพื่อเป้าหมายสำคัญเรียบร้อยแล้ว การใช้เงินเพื่อตอบสนอง want ก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าอยากเก็บเงินให้ได้ทุกครั้งก่อนใช้ ให้ถามหาเหตุผลหรือทบทวนดูก่อนว่าของที่จะซื้อนั้นเป็น want หรือ need
เป็นวลีที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาที่กำลังช้อปปิ้งอยู่ต่างประเทศ เมื่ออยากได้ของขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง แต่ก็รู้สึกลังเลว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อดี ก็มักจะมีวลีนี้ผุดขึ้นมาในหัว หรือหลุดออกมาจากเพื่อนร่วมทริปว่า “ซื้อไปเถอะ ไม่ได้มากันบ่อยๆ” หรือไม่รู้ว่าจะได้มาอีกทีเมื่อไร ถ้าไม่ซื้อไปแล้วจะมานั่งเสียใจทีหลังไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าเราควรจะซื้อของชิ้นนั้น แล้วตัดสินใจรูดบัตรไปอย่างง่ายดาย ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า You Only Live Once (YOLO) โดยเป็นแนวคิดที่บอกว่า คนเราเกิดมาแค่เพียงครั้งเดียว จึงควรใช้ชีวิตให้คุ้ม ซึ่งคำว่าคุ้มนี่ล่ะที่แต่ละคนให้คำจำกัดความที่ไม่เหมือนกัน บางคนมองว่าการไปชอปปิงที่ต่างประเทศนั้นไม่ได้มาบ่อยๆ เลยต้องจัดเต็มให้คุ้มค่าตั๋วด้วยการซื้อของราคาแพงติดไม้ติดมือกลับไปด้วยทุกครั้ง
วิธีแก้: ให้เรา “ตั้งงบประมาณในการช้อปปิ้ง” แต่ละครั้งไว้ ว่าเราจะใช้เงินไม่เกินเท่าไร และพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้งบประมาณนั้น
3.นาน ๆ จะ sale สักที
เวลาไปช้อปปิ้งแล้วเห็นป้ายสีแดงๆ ที่เขียนว่า sale เรามักจะสะดุดตาและถูกดึงดูดให้เข้าร้านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะลงเอยด้วยการซื้อของชิ้นนั้นกลับมาด้วยเหตุผลที่ว่า “ก็ของมันลดราคา นานๆ เค้าจะ sale สักที” พฤติกรรมแบบนี้สอดคล้องกับแนวคิด The six principles of persuasion ของ Robert Cialdini ในหัวข้อ Scarcity ที่บอกไว้ว่า คนเราจะตัดสินใจทำอะไร เพราะเสียดายโอกาสนั้น ๆ กลัวว่าจะพลาดโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งหากคิดแบบนี้บ่อยๆ และตัดสินใจใช้จ่ายเงินเพียงเพราะเสียดายโอกาส คิดว่านาน ๆ จะ sale สักที กลัวพลาด รีบซื้อเลยดีกว่า แบบนี้ก็คงไม่มีเงินเก็บแน่นอน
วิธีแก้: ก่อนตัดสินใจซื้อของลดราคา ลองพิจารณาดูก่อนว่า “เราจำเป็นต้องซื้อของชิ้นนั้นหรือไม่” เป็นของที่เรามีอยู่แล้วหรือเปล่า จำเป็นต้องซื้อเพิ่มอีกไหม หากของชิ้นนั้นไม่ได้ลดราคา แล้วเรายังต้องการอยู่ไหม ที่จริงแล้วเราซื้อเพราะอะไรกันแน่ เพื่อเป็นการทบทวนความคิดและเรียกสติกลับมาก่อนตัดสินใจใช้จ่ายเงินนั่นเอง
หากเราเป็นคนหนึ่งที่เห็นใครใช้อะไรก็อยากใช้ตามบ้าง เช่น เห็นใครๆ ก็ใช้มือถือยี่ห้อนี้กัน หรือเห็นคนรอบข้างใช้กระเป๋าแบรนด์นี้ สุดท้ายเลยต้องจัดตามเขาบ้าง เพราะ “กลัวตก trend” เดี๋ยวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง อาการแบบนี้เรียกว่า FOMO (Fear of Missing Out) หมายถึงการที่เรากลัวการตกกระแส เลยต้องมีเหมือนคนอื่นๆ บ้าง ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ Social Media แพร่หลายแบบนี้ ทำให้ trend ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้น หากเรามัวแต่วิ่งตาม trend อย่างต่อเนื่อง และใช้เงินซื้อของต่างๆ เพียงเพราะกลัวว่าจะตก trend แล้วล่ะก็ การเก็บเงินคงจะทำได้ยาก
วิธีแก้: ให้เรา “ใช้ชีวิตให้ช้าลง” สนใจคนรอบข้างมากขึ้น หางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจาก Social Media หรือ trend ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน และพอใจในสิ่งที่มีอยู่มากขึ้น
เป็นประโยคที่แสดงให้เห็นถึงการ “ผัดวันประกันพรุ่ง” ไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมเริ่มต้นทำอะไรสักที โดยเฉพาะเรื่องการเก็บเงิน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราไม่เห็นความสำคัญหรือไม่มีเป้าหมายในการเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต จึงเลื่อนระยะเวลาในการเก็บเงินออกไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไม่มีเงินเก็บสักที
วิธีแก้: เริ่มต้น “ตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินตั้งแต่วันนี้” ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น กลาง หรือยาว ก็ตาม เช่น ตั้งเป้าหมายเก็บเงินจำนวน 400,000 บาท เพื่อดาวน์บ้านภายในเวลา 2 ปี เมื่อเรามีเป้าหมาย เราจะรู้ว่าจะเก็บเงินไปเพื่ออะไร มีแรงจูงใจในการเก็บเงินมากขึ้น และรู้ว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไร ถึงจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ได้
เมื่อรู้แล้วว่าพฤติกรรมใดบ้างเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเก็บเงินไม่อยู่ หากเราสามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ก็จะช่วยให้เรามีเงินเก็บมากขึ้น ที่สำคัญคือ เราต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเก็บเงิน และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคต
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPTTM K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com